top of page
ค้นหา

เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการด้าน Smart IoT กับศักยภาพในการผลักดัน EEC Deep Tech Ecosystem

mthanutpong

หัวขบวนที่ลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้การเงินและการลงทุนธุรกิจระหว่างประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และร่วมส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้เป็น เมืองศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT นำโดย



  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล (ซ้ายสุด) ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา

  • ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

  • คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด

  • คุณธนินท์ อินทรมณี (ขวาสุด) กรรมการผู้จัดการ VAMstack


โดยงานนี้จัดเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมและสร้าง ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBE) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองศูนย์กลางนวัตกรรม



ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เกริ่นถึงการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่และภูมิภาคของ NIA ว่า เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่มุ่งนำเอาสินทรัพย์ทางนวัตกรรมผนวกกับศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ มาใช้ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้กล่าวย้ำถึงการสร้างแรงผลักดันในการยกระดับ SMEs / Startup / SE ให้เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่สามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้น ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและรู้จักในฐานะ 'ชาตินวัตกรรม' โดย NIA เลือกใช้กลไกการสนับสนุนที่เรียกว่า Groom - Grant - Growth กล่าวคือ

  • การพัฒนาทักษะด้านกำลังคนและเพิ่มจำนวนองค์กรนวัตกรรม (Groom)

  • การสนับสนุนด้านการเงิน (Grant)

  • การทำให้ธุรกิจนวัตกรรม สินค้าและบริการนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับและรู้จัก (Growth)



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประธานคณะกรรมการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า เมื่อปี 2565 จัดทำกลไกส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของเทคโนโลยีเชิงลึกในเขตพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Deep Tech Ecosystem) โดยสรุปได้ว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศหลากหลายด้าน อาทิ

  • มีความโดดเด่นในด้านทำเลที่ตั้ง

  • มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทั้งสถาบันวิจัยและการศึกษาชั้นนำทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึก

  • มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก

  • มีแหล่งอาหารและที่พักที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้

  • มีสถานบริการทางด้านการแพทย์ครบวงจร

  • มีการขยายตัวด้านการคมนาคมในพื้นที่ รวมไปถึงนโยบายพิเศษของภาครัฐที่สนับสนุนด้านการลงทุน นำไปสู่พื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงลึกชั้นนำระดับโลก ฯลฯ

"ด้วยศักยภาพที่มีอยู่รอบด้านของ EEC นำมาสู่การเริ่มจัดตั้งศูนย์กลางการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมด้าน Smart IoT ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลไกและเครื่องมือสนับสนุนในการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และเป็น พื้นที่ทดลอง (Sandbox) ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาใช้บริการและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม"


สอง Deep Tech Startup ม.บูรพา ที่ร่วมเซ็น MOU


เริ่มต้นที่ 2 สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกสู่อุตสาหกรรม Healthcare ที่ ผศ.ดร.ณยศ กล่าวถึง ข้างต้น คุณภานุวัฒน์ พรหมศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนโกรท จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัทเอกชนที่ได้แยกตัว (Spin-off) ออกมาจากมหาวิทยาลัยบูรพาว่า บริษัทให้บริการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำ จากการใช้ AI Machine Vision พัฒนาแพลตฟอร์ม IoT สำหรับ Smart Living, Smart Care, Smart Health ที่ชื่อ กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์มด้านสุขภาพและการแพทย์แบบครบวงจร บริหารจัดการดูแลได้ทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วย โดยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน กับโรงพยาบาล และหากระบบตรวจพบว่า เกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้สูงอายุ ก็จะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อเรียกมาให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที



สำหรับการร่วมเซ็น MOU เซนโกรทให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม IoT การดำเนินชีวิตอัจฉริยะ การทดสอบผลิตภัณฑ์ การต่อยอดเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม ต่อยอดธุรกิจสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่วิเคราะห์ทดสอบ และเชื่อมโยงองค์กรขนาดใหญ่ในการนำแพลตฟอร์มไปใช้งาน โดยคาดหวังในการเชื่อมโยงและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกกับหน่วยงานร่วมในพื้นที่ EEC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจและการใช้ข้อมูลร่วมกัน



ปิดท้ายด้วย บริษัท แวมสแตค จำกัด (VAMStack) อีกหนึ่งสตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ที่มาร่วมเซ็น MOU โดยเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Video Analytics Management (VAM) ที่ spin-off มาจากแล็บวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมระบบสมองกลฝังตัว คณะวิศวกรรมศาสตร์ และแล็บวิจัยและพัฒนาทางด้านวิเคราะห์ภาพขั้นสูง คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา



คุณธนินท์ อินทรมณี กรรมการผู้จัดการ VAMstack กล่าวว่า บริษัทร่วมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถในการทำธุรกิจนวัตกรรมและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการฝึกงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา สนช. และเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทรัพยากรในโครงการวิจัยและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ IoT และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจในเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IoT ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความต้องการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เติบโตและเชื่อมโยงกับตลาดโลก สร้างประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน




ดู 75 ครั้ง

Comments


bottom of page